หนึ่งในหัวข้อที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการผลิตถังน้ำเหล็กที่ติดตั้งอยู่บนรถอีแต๋นคือ ความหนาของเหล็กที่ใช้ผลิตถังน้ำ ในอดีตเราจะมีการใช้ความหนาของเหล็กตั้งแต่ 2.00 มม. ไปถึง 8.00 มม. แปรผันตามแรงกระทำต่อถังน้ำ หากมีแรงกระทำมากก็จะออกแบบให้ถังน้ำ มีความหนามากขึ้นตาม เช่นรถดูดส้วม ที่มีแรงดูดสูญญากาศภายในถังมาก ถังของรถดูดส้วมจะมีความหนามากกว่าถังบรรทุกน้ำทั่วไป

           การออกแบบถังน้ำ ที่มีการใช้งานในลักษณะเคลื่อนที่ ก็จะมีความแตกต่างจากถังน้ำที่ตั้งอยู่กับที่ โดยหากมีการเคลื่อนที่ ก็จะมีแรงกระทำที่เกิดจากน้ำเหวี่ยงของน้ำที่อยู่ในถัง ซึ่งจะแปรผันตามความเร่งของรถในขณะนั้นๆ จึงมักมีการออกแบบให้มีแผ่นครีบกันกระแทกภายในถัง เพื่อลดแรงกระทำดังกล่าว หลังจากที่ได้ขนาดความหนาที่เหมาะสมสำหรับแรงกระทำเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการคำนึงถึงอายุการใช้งานของถัง ซึ่งจะมีเรื่องการกัดกร่อนของผิวโลหะมาเป็นหัวข้อสำคัญ เนื่องจากมีการสัมผัสของน้ำกับโลหะอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งมีแสงอาทิตย์ตกกระทบโดนผิวโลหะ ก็จะเร่งให้เกิดปฏิกริยาการเกิดสนิมได้ง่าย โดยส่วนใหญ่ก็จะมีการเผื่อความหนาของเหล็กไว้เสมอ เช่น เมื่อออกแบบให้มีความหนาของถังอยู่ที่ 2.00 มม.ผู้ออกแบบอาจเผื่อความหนาไว้ที่ 2.50 ถึง 3.00 มม. เป็นต้น

          ปัจจุบัน โรงงานผลิตสี ได้คิดค้นนวัตกรรมสีกันสนิม รุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตถังน้ำ ได้มีโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีสีสมัยใหม่เข้ามาใช้ได้อย่างสอดคล้องกัน และส่งผลให้การออกแบบถังน้ำไม่ต้องเผื่อค่าความหนาของถังน้ำมากเกินไป โดยถังที่มีความหนามากเกินไป แม้จะมีผลดีด้านความหนา แต่ส่งผลเสียเรื่องน้ำหนักรถที่มากขึ้น ทำให้ต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนที่มากขึ้น หรือ สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น ถังน้ำที่เบากว่า นอกจากจะทำให้ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงแล้ว ยังส่งผลต่อการใช้กำลังของเครื่องยนต์ที่เหลือไปใช้ในการขับเคลื่อนรถ ให้มีความคล่องตัว อัตราเร่ง ความเร็ว ที่สูงขึ้น กล่าวโดยรวมคือ จะได้งานมากขึ้นและใช้เชื้อเพลิงน้อยลง ยังมีการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องในเรื่องของ Weight Reduction เพื่อให้ได้รถที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะได้กล่าวถึงในครั้งต่อๆไป